ค้นหาบล็อกนี้

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

ลงทุนเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสม ?


ลงทุนเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสม ?


“เงินลงทุน” ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง ถ้าไม่มีเงิน ก็ไม่สามารถที่จะลงทุนได้ การกำหนดจำนวนเงินลงทุนที่เหมาะสมจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการลงทุน เพราะการนำเงินออมหรือเงินสำหรับการใช้จ่ายมาลงทุนมากเกินไป อาจทำให้เราประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง กดดันตัวเองมากเกินไป

ในขณะที่การจัดสรรเงินเพื่อการลงทุนที่น้อยเกินไป อาจทำให้เสียโอกาสในการสร้างผลตอบแทนตามที่ควรจะได้รับ ซึ่งการจัดสรรเงินสำหรับการลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมจะทำให้การลงทุนของเราเป็นไปอย่างสมดุล

ข้อควรคำนึงในการจัดสรรเงินเพื่อการลงทุน คือ ต้องวางแผนและจัดการกับความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน ตลอดจนภาระ
ทางการเงินด้านอื่นๆ ที่ตนเองมีอยู่ในชีวิตให้เรียบร้อยเสียก่อน ซึ่งได้แก่.

1.เงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน

ถือเป็นเงินก้อนแรกที่คุณควรจะกันออกจากรายได้ เพื่อเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน โดยผู้เชี่ยวชาญทางการเงินต่างเห็นพ้องต้องกันว่า คนเราควรมีเงินเก็บสำรองไว้เผื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน เท่ากับค่าใช้จ่ายรายเดือนรวมกัน3 - 6 เดือนเป็นอย่างน้อย ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีภาระค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 10,000 บาท เราก็ควร ที่จะมีเงินเก็บสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 30,000 - 60,000 บาท ซึ่งเงินสำรองดังกล่าวนี้ควรเก็บอยู่ใน รูปแบบการออมที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุด และมีสภาพคล่องสูง โดยสามารถเบิกใช้ได้ในทันทีที่เราต้องการเช่น ฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์กับธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

2.เงินสำหรับใช้จ่ายในการดำเนินชีวิต

เป็นรายการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินชีวิตของคุณและครอบครัว ซึ่งได้แก่ ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ค่าพักผ่อนหย่อนใจ เป็นต้น ถือเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ เพราะเป็น ส่วนที่จำเป็นต้องใช้สำหรับการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน
 

3.ภาระหนี้สิน

เป็นรายการที่เกิดขึ้นในกรณีที่มีการกู้ยืมเงิน จึงเป็นพันธะผูกพันทางการเงินตามกฎหมายที่ผู้กู้จะต้องรับผิดชอบโดยต้องจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยตามเงื่อนไขที่ได้ระบุอยู่ในสัญญาการกู้ยืม หากเรากู้ยืมเงินและไม่ปฏิบัติตามสัญญา อาจเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาภายหลังได้ เช่น ถูกยึดทรัพย์สิน หรือถูกฟ้องล้มละลาย เป็นต้น

4.เงินประกัน

เป็นรายการที่เกิดขึ้นในกรณีที่เราต้องการเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนหรือความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น ในอนาคต เช่น เงินประกันชีวิต เงินประกันอุบัติภัย เงินประกันสุขภาพ เป็นต้น จัดเป็นส่วนที่ใช้สำหรับสร้างหลักประกันในชีวิตให้แก่ทั้งตัวคุณและครอบครัวได้เป็นอย่างดี

5.เงินสำหรับแผนในอนาคต

เป็นเงินอีกส่วนหนึ่งที่มีไว้สำหรับแผนการต่างๆ ที่เราคาดหวังเอาไว้ในอนาคต ซึ่งขึ้นอยู่กัสถานการณ์ ความต้องการ และความจำเป็นของตัวเราเองเป็นหลัก เช่น เงินสำหรับการศึกษาต่อ เงินสำหรับการศึกษาของบุตร เงินสำหรับดาวน์บ้านหรือต่อเติมบ้าน เป็นต้น แน่นอนว่า... หากเรามีแผนการที่ชัดเจนเหล่านี้อยู่ในใจ ก็ควรที่จะวางแผนเก็บเงินเพื่อทำให้แผนการนั้นๆ เสร็จเรียบร้อยไปเสียก่อน
  
สิ่งสำคัญคือ ไม่ควรมีความคิดจะใช้เงินที่ได้รับจากการลงทุน มาใช้เพื่อจัดการกับภาระทางการเงินดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากการลงทุนใดๆ ย่อมมีความไม่แน่นอนแฝงอยู่เสมอ และอาจทำให้เราประสบกับปัญหาทางการเงินได้ โดยเงินที่นำมาลงทุนควรเป็น “เงินส่วนที่เหลือ” หลังจากที่คุณได้เตรียม



การขั้นพื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต รวมถึงจัดการกับภาระทางการเงินด้านอื่นๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

http://health-tu.blogspot.fr/ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น